จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

รัชกาล ที่่ 7


ภาพ:รัชกาลที่ 7.jpg

[แก้ไข] พระราชประวัติ

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสองค์สุดท้องในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาท ทรงประสูติเมื่อวันพุธแรม 14 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2436 มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายประชาธิปกศักดิเดชน์กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ซึ่งเป็นพระราชอนุชาร่วมพระราชบิดาและพระราชมารดาเดียวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ สืบสันติวงศ์จากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 และได้ทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2477 รวมเวลาครองราชสมบัติได้ 10 ปี และพระองค์ได้เสด็จสวรรคตขณะประทับอยู่ในลอนดอน เมื่อ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2484 เมื่อพระชนม์มายุได้ 48 พรรษา
        ตลอดเวลา 10 ปี ที่พระองค์ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ แม้ว่าจะเป็นเวลาอันน้อย แต่ก็เป็นระยะเวลาที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่พระองค์ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชาติไทยตามคำร้องขอพระราชทานของคณะปฎิวัติ เมื่อ 24 มิถุนายน 2437 ซึ่งพระองค์ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่พสกนิกรของพระองค์อยู่แล้ว ซึ่งนับว่าพระองค์ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกร และได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติไทยอย่างใหญ่หลวง
        ครั้งทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาวิชาขั้นต้นจนทรงโสกันต์แล้ว จึงได้เสด็จออกไปทรงศึกษาวิชา ณ โรงเรียนอีตัน อันเป็นโรงเรียนชั้นเยี่ยมยอดของประเทศอังกฤษ ต่อมาได้เสด็จไปเข้าโรงเรียนนายร้อย ณ เมืองวูลิช เมื่อทรงศึกษาจบหลักสูตรแล้วก็เสด็จกลับประเทศไทย กลับมารับราชการประจำกรมมหาดเล็กรักษาพระองค์ ได้เลื่อนยศตามลำดับ กระทั่งได้ดำรงพระยศเป็นพันโท ตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม ได้รับพระราชทานเลื่อนยศตามลำดับจนเป็นนายพันเอก ทรงดำรงตำแหน่งปลัดกรมเสนาธิการทหารบกและก่อนเสวยราชย์ ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 2
        เมื่อ พ.ศ.2460 พระองค์ได้ทรงผนวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จมาจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศฯ ในสำนักสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อออกพรรษาแล้วก็ทรงลาผนวช ครั้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระบรมเชษฐาธิราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้อภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระธิดาในสมเด็จกรมพระสวัสดิวัฒนวิสิษฎ์ ณ พระที่นั่งวโรภาสพิมาน พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา
        สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ทรงกรมเป็นกรมขุนสุโขทัยธรรมราชา แล้วเลื่อนเป็นกรมหลวง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 ก่อนสิ้นรัชกาลที่ 6 เพียง 15 วัน ซึ่งขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระประชวรมาแรมเดือนแล้ว และทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระราชอนุชาที่จะสืบราชสมบัติก็ได้เสด็จล่วงไปหมดสิ้น ยังแต่พระอนุชาองค์น้อยนี้ที่มีสิทธิในราชบัลลังก์ ยิ่งกว่าพระราชวงศ์ทั้งปวง จึงทรงระบุพระนามไว้ในพระราชหัตถ์เลขานิติกรรมว่า ถ้าพระองค์ไม่มีพระราชโอรสก็ขอให้ราชสมบัติตกแก่สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสวรรคตในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 แล้ว ราชบัลลังก์แห่งพระราชจักรีวงศ์จึงได้ตกแก่สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ โดยที่พระองค์มิได้ทรงคาดหมายมาก่อน แม้ว่าพระองค์จะปฎิเสธที่จะเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ แต่ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ พระองค์จึงได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้านายผู้ใหญ่ที่ทรงชำนาญงานมาแล้ว เป็นคณะอภิรัฐมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน มีสมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชเป็นประธาน
        ในรัชสมัยของพระองค์ นับแต่สืบเนืองมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ครอบงำไปทั่วโลก รัฐบาลในขณะนั้นได้พยายามแก้ไขโดยตัดงบประมาณแผ่นดิน เพื่อให้รายจ่ายได้ดุลยภาพกับรายได้ของประเทศ และพระองค์เองก็ทรงยอมเสียสละความสุขส่วนพระองค์ โดยทรงตัดงบประมาณการใช้จ่ายในราชสำนักจากปีละ 9 ล้านบาท เหลือเพียง 6 ล้านบาท
        ในกรณีอันเกี่ยวกับการปกครองประเทศสยามในขณะนั้น พระองค์ก็ได้ทรงพระราชดำริว่า บัดนี้นานาประเทศได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยไปเกือบหมดแล้ว พระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ อันเป็นหลักการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยอย่างชาติอารยประเทศทั้งหลาย จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งจัดเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญ แต่เผอิญในขณะนั้นเป็นเวลาที่ประเทศชาติกำลังประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประกอบกับทั้งคณะที่ปรึกษาราชกิจได้มีความคิดเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงเห็นสมควรที่จะรอต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง เมื่อประชาชนมีการศึกษาดีขึ้นแล้วจึงค่อยพระราชทานรัฐธรรมนูญ
         พระราชอนุสรณ์ที่พระองค์ได้ทรงสร้างไว้ และเป็นคุณประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างมากมายนั้นคือ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชการที่ 1 ผู้ทรงสร้างกรุงเทพฯ พระมหานคร สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ หรือที่ประชาชน เรียกว่า “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” นี้ เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จไปทรงกระทำพิธีเปิดและจัดให้มีงานมหกรรมสมโภชเป็นการเฉลิมฉลองกรุงเทพพระมหานครที่มีอายุครบ 150 ปี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2475
        ครั้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ได้มีบุคคลคณะหนึ่งชื่อว่า “คณะราษฎร์” ได้ทำการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงยินยอมโดยดี ทั้งนี้ เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์จะพระราชทานรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชนชาวไทยอยู่แล้ว พระองค์ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 และพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 (ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ข้อนี้ รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร จึงได้มีมติที่จะสร้างพระราชอนุสาวรีย์ของพระองค์ไว้เป็นที่ระลึก) ต่อมาใน พ.ศ.2477 พระองค์ได้เสด็จไปรักษาพระเนตร ณ ประเทศอังกฤษ พระองค์ได้มีข้อข้องพระราชหฤทัยกับรัฐบาลคณะปฎิวัติในขณะนั้นหลายประการ โดยเฉพาะกรณีที่พระองค์ข้องพระราชหฤทัยที่รัฐบาลคณะปฎวัติในสมัยนั้นได้ปฏิบัติการในการปกครองประเทศ มิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยตามแบบอย่างนานาอารยประเทศ เมื่อไม่มีทางตกลงกันได้ พระองค์ก็ได้ประกาศสละพระราชสมบัติ เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2477 รวมเวลาครองราชย์สมบัติได้ 10 ปี เมื่อพระองค์สละราชสมบัติแล้ว ก็ใช้ชีวิตส่วนพระองค์ร่วมกับพระบรมราชินีรำไพพรรณี ณ ประเทศอังกฤษต่อมาจนกระทั่งได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2484 รวมพระชนมายุได้ 48 พรรษา แม้ว่าพระองค์จะเสด็จสวรรคตไปแล้ว แต่ประชาชาติไทยก็ยังน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อยู่ตลอดเวลาที่พระองค์ได้เป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยให้แก่ปวงประชาชาติไทย

[แก้ไข] ประเพณี ศิลปะและวัฒนธรรม

        พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้ริเริ่มในการสร้างค่านิยมให้สามีภริยาเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตของสังคมไทยแต่โบราณที่ชายไทยมักจะมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายได้หลายคนพร้อม ๆ กัน ทรงโปรดให้ตรา “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ.2473” ริเริ่มให้มีการจดทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ทะเบียนรับรองบุตร อันเป็นการปลูกฝังค่านิยมแบบใหม่ทีละน้อยตามความสมัครใจ นอกจากนี้ยังทรงปฎิบัติตนเป็นแบบอย่างโดยทรงมีแต่พระบรมราชินีเพียงพระองคืเดียว โดยไม่ทรงมีพระสนมนางในใด ๆ ทั้งสิ้น

[แก้ไข] ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

        ในต้นรัชสมัยได้ทรงดำเนินกิจการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศที่คั่งค้างมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้สำเร็จลุล่วงไป เช่น การให้สัตยาบันสนธิสัญญาต่าง ๆ นอกจากนี้ยังได้ทรงทำสนธิสัญญาใหม่กับประเทศเยอรมันและทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสเกี่ยวกับดินแดนในลุ่มแม่น้ำโขงที่เรียกว่า “สนธิสัญยาอินโดจีน พ.ศ.2469” ด้วย
        หลังจากที่ทรงสละราชสมบัติแล้วพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีและพระประยูรญาติที่สนิทบางพระองค์ได้เสด็จฯ ไปประทับที่ตำบลเวอจิเนียร์วอเตอร์ ซึ่งเป็นชนบทใกล้กรุงลอนดอน ดดยทรงใช้ชีวิตความเป็นอยุ่เยี่ยงสามัญชนทั่วไป จนเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2484 ได้เสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยโรคพระหทัยวาย สิริพระชนมายุได้ 48 พรรษา และได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพในวันที่ 3มิถุนายนปีเดียวกันนั้น ต่อมาในปีพุทธศักราช 2492 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีจึงได้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับมาประดิษฐานร่วมกับสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าที่หอพระบรมอัฐิที่ชั้นบนของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง
        พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยุ่หัวทรงอยุ่ในสิริราชสมบัตินาน 9 ปี โดยไม่ทรงมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาเลย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  • สำนักโหรพลูโต
  • สิริ เปรมจิตต์ และ จิตตสะอาด ศรียงค์. (2514), พระบรมราชจักรีวงศ์ พระบรมฉายาลักษณ์ 9 รัชกาล. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เสาวภาค และโรงเรียนเทพปัญญา.
  • วารี อัมไพรวรรณ. (2541), พระราชประวัติ พระมหากษัตริย์และพระบรมราชินีแห่งราชวงศ์จักรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ทิพยวิสุทธิ์
  • โฉมหน้าประวัติศาสตร์ ชุด ราชสำนักสยาม, (2516),กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สยาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น